ၵိူဝ်ၵေႃႈတိုၵ်ႉပဵၼ်ၽူႈၶဵၼ်ႁၢႆႉ တေႃႇသၢႆၸႂ်ႁဝ်း
เกลือมีค่างวดสูงมากในอดีต บางพื้นที่ใช้เป็นเครื่องสินสอด กองทัพโรมันใช้เป็นค่าจ้างจ่ายให้กับทหาร และเกลือยังเป็นศัตรูของสุขภาพอีกด้วย คนไทยบริโภคเกลือในปริมาณสูง 2-3 เท่าของปริมาณที่ร่างกายต้องการ มีผลเสียทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ทั้งยังทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูงยังส่งผลให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต ข้อมูลล่าสุด พบว่าคนไทย 21.4 % หรือ11.5 ล้านคนเป็นโรคความดันโลหิตสูง, 17.5% หรือ 7.6 ล้านคนเป็นโรคไต, เป็น1.4% หรือ 0.75 ล้านคน เป็นโรคหัวใจขาดเลือด และ1.1 % หรือ 0.5 ล้านคนเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต) แม้ว่าเกลือโซเดียมจะช่วยรักษาดุลของของเหลวในร่างกาย ช่วยให้การส่งกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นประสาทเป็นไปอย่างปกติ ช่วยการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ แต่ปริมาณที่บริโภคในแต่ละวันไม่ควรเกิน 5 กรัม (โซเดียม 2,400 มิลลิกรัม) แต่จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม) ซึ่งสูงเป็น 2 เท่าของที่ร่างกายควรได้รับ โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ครัวเรือนคนไทยนิยมใช้กันมาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือ กะปิและซอสหอยนางรม แม้แต่ผงชูรสที่ไม่มีรสเค็ม แต่ก็มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบอยู่โดยตรง เพราะชื่อจริงของมันในทางเคมีคือโซเดียมกลูตาเมท และเป็นที่รู้กันว่าอาหารสำเร็จรูปต่างๆ ได้เติมผงชูรสลงไปแทบทั้งสิ้น จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารมื้อหลักของคนไทย พบว่ามากกว่าร้อยละ 30 จะซื้อกินนอกบ้านทั้ง 3 มื้อ โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานหรือใช้ชีวิตนอกบ้าน เช่น ข้าราชการ นักเรียน นิสิตนักศึกษา พนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างทั่วไป ทั้งยังเป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล และมากกว่าร้อยละ 70 ซื้ออาหารกลางวันนอกบ้านในรูปแบบข้าวราดแกง อาหารจานเดียวตามสั่งและก๋วยเตี๋ยว สำหรับการทำ “กับข้าว” ประเภทแกงจืด ผัดผักและยำต่างๆ พบว่ามีการเติมเครื่องปรุงรสที่ให้รสเค็มในสูตรอาหารอยู่แล้ว ทั้งเกลือ น้ำปลาและซอสปรุงรสต่างๆ เมื่อวิเคราะห์ปริมาณโซเดียมในอาหารถุงปรุงสำเร็จ พบปริมาณโซเดียมเฉลี่ยต่อถุงอยู่ระหว่าง 815-3,527 มิลลิกรัม ส่วนปริมาณโซเดียมที่พบในอาหารจานเดียว เช่น ข้าวหน้าเป็ด ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู และข้าวคลุกกะปิ พบปริมาณโซเดียม 1,000-2,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค การลดปริมาณโซเดียมที่รับประทาน ได้แก่ 1. หลีกเลี่ยงการใช้เกลือ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ และผงชูรส (แม้ไม่เค็มแต่มีโซเดียมสูง) ในการปรุงอาหาร 2. หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุง เช่น ปรุงรสเพิ่มในก๋วยเตี๋ยว เติมพริกน้ำปลาในข้าวแกง เป็นต้น 3. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทดองเค็ม อาหารแปรรูป เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว ปลาส้มแหนม ไส้กรอก กุนเชียง หมูหยอง เป็นต้น 4. เลือกรับประทานอาหารที่มีหลายรสชาติ เช่น แกงส้ม ต้มยำ เพื่อทดแทนรสชาติเค็ม 5. น้ำซุปต่างๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยวมักมีปริมาณโซเดียมสูง ควรรับประทานแต่น้อยหรือเทน้ำซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ำเพื่อเจือจางลง 6. ตรวจดูปริมาณโซเดียมต่อหน่วยบริโภคบนฉลากของซอสปรุงรส อาหารสำเร็จรูป และขนมถุง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูง อาหารรสชาติเค็มเป็นอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม)สูง เป็นภัยเงียบที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง ความเคยชินในการรับประทานอาหารรสเค็มจัดของคนไทยปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ หากค่อยๆ ลดความเค็มทีละน้อย จะทำให้เกิดความเคยชิน แล้วลิ้นของเราก็จะไม่โหยหารสเค็มอีกต่อไป เราจึงควรสร้างนิสัยการรับประทานอาหารอ่อนเค็มตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีตามมาด้วยชีวิตที่เป็นสุขปราศจากโรคภัย ตามสโลแกน “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยห่างไกลโรค”
0 ၶေႃႈႁၼ်ထိုင်:
Post a Comment